Tricks
สาระน่ารู้
หน้าแรก
เรื่องน่ารู้
หยุดกินยาคุมแล้วจะเกิดอะไร ตอบทุกข้อสงสัยเรื่องหญิง ๆ
หยุดกินยาคุมแล้วประจำเดือนไม่มา สาว ๆ ก็คงรู้สึกเป็นกังวลใจแล้ว ไหนจะยังมีปัญหาคาใจเรื่องยาคุมกำเนิดอื่น ๆ อีก วันนี้เรามาไขความกระจ่างในทุกประเด็นคำถามกันค่ะ
 
 
วิธีกินยาคุมกำเนิดที่ถูกต้อง เชื่อว่าสาว ๆ ที่มีความต้องการจะกินยาคุมกำเนิดไม่ว่าจะแบบ 21 เม็ด 28 เม็ด หรือยาคุมฉุกเฉินก็คงศึกษาข้อมูลกันมาดีพอสมควรแล้วก่อนที่จะกินยาคุม แต่ปัญหามักจะเกิดเมื่อตอนที่หยุดกินยาคุมแล้วประจำเดือนไม่มา หรือหยุดกินยาคุมกลางคันแล้วกังวลว่าจะเกิดผลข้างเคียงไหม รวมกับอีกหลาย ๆ ข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นหยุดกินยาคุม ซึ่งวันนี้เราจะมาอธิบายเรื่องนี้ให้เข้าใจไปพร้อม ๆ กันค่ะ
 
หยุดกินยาคุมตอนไหนได้บ้าง
 
สำหรับคนที่รับประทานยาคุมกำเนิดมานาน และอยากจะหยุดกินยาคุมเพื่อปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ จริง ๆ แล้วก็สามารถหยุดกินยาคุมได้ทันทีโดยไม่ต้องปรึกษาแพทย์ เพียงแต่ควรกินยาคุมให้หมดแผงเสียก่อน แล้วก็ไม่ต้องเริ่มกินแผงใหม่ เว้นเสียแต่กรณีที่มีความจำเป็นต้องหยุดกินยาคุมกำเนิดกะทันหัน เช่น ต้องเข้ารับการผ่าตัด เคสนี้แพทย์อาจสั่งให้หยุดกินยาคุมทันที โดยไม่ต้องรับประทานยาคุมจนหมดแผงก็ได้
 
หยุดกินยาคุมกลางแผงเลยได้ไหม ?
 
อย่างที่บอกว่าควรจะหยุดกินยาคุมเมื่อกินยาคุมแผงเดิมหมดแผงแล้ว เพราะหากหยุดกินยาคุมกลางแผง หรือหยุดกินยาคุมกลางคัน อาจทำให้มีปัญหาเลือดออกกะปริดกะปรอยได้ และอาจทำให้รอบประจำเดือนคลาดเคลื่อน
หยุดกินยาคุมแล้วประจำเดือนไม่มา แบบนี้ผิดปกติหรือเปล่า ?
ในช่วงที่กินยาเม็ดคุมกำเนิด ประจำเดือนจะมาระหว่างกินเม็ดยาที่ 22-28 กล่าวคือ หากรับประทานยาคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ด ประจำเดือนจะเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1-4 ของการหยุดกินยา แต่สำหรับยาคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ด ประจำเดือนจะเริ่มมาในช่วง 7 เม็ดสุดท้ายของแผง (ซึ่งเป็นเม็ดแป้ง) หรือระหว่างเม็ดที่ 22-28 และส่วนใหญ่จะเริ่มมีประจำเดือนระหว่างทานเม็ดแป้งได้ประมาณ 2-4 วัน ทว่าหากประจำเดือนคลาดเคลื่อน ไม่มาตามรอบดังกล่าว แนะนำให้ทดสอบการตั้งครรภ์ หรือปรึกษาแพทย์
 
อย่างไรก็ตาม การหยุดกินยาคุมอาจส่งผลกระทบในรอบเดือนถัด ๆ ไปได้ เนื่องจากยาคุมกำเนิดมีผลทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนถูกควบคุม ซึ่งก็ทำให้ประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ ทว่าเมื่อเลิกกินยาคุมไป ฮอร์โมนเพศในร่างกายก็จะหลั่งตามธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอได้ในบางคน แต่ไม่ได้มีผลกระทบร้ายแรงอะไรหรอกนะคะ เพียงแต่ก็จะคาดคะเนวันที่ประจำเดือนจะมาได้ยากกว่าเดิมเท่านั้น
 
อาการหลังหยุดกินยาคุม จะเป็นอย่างไรบ้าง
 
หลายคนมีความกังวลใจว่าเมื่อหยุดกินยาคุมแล้ว จะมีอาการผิดปกติอะไรเกิดขึ้นกับร่างกายเราหรือไม่ ตอบตรงนี้เลยค่ะว่านอกจากโอกาสตั้งครรภ์แล้ว ปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอย และประจำเดือนคาดเคลื่อนก็อาจเกิดขึ้นกับบางคนได้ โดยรอบเดือนของบางคนอาจมาช้าหรือเร็วกว่าที่เคยมา 
 
แต่อย่างไรก็ตาม หลังหยุดกินยาคุมกำเนิด ประจำเดือนต้องมาทุกเดือน ไม่ว่าจะมาน้อยมามาก เพราะหากหยุดกินยาคุมแล้วประจำเดือนไม่มา ก็ควรทดสอบการตั้งครรภ์ไว้ได้เลย แต่แม้ว่าหลังหยุดกินยาคุมไปในช่วงแรก ประจำเดือนจะผิดปกติไปบ้าง ทว่าหลังหยุดกินยาคุมไปประมาณ 1-3 เดือน รอบเดือนจะเข้าร่องเข้ารอยเหมือนเดิม คือมาในปริมาณเท่าเดิม หรือใกล้เคียงปริมาณเดิม และมาในช่วงใกล้เคียงกับรอบเดือนก่อน ๆ อีกทั้งอาการเลือดออกกะปริบกะปรอยจะไม่มีอีกแล้ว แต่หากหยุดกินยาคุมไปแล้วประจำเดือนไม่มา และตรวจแล้วไม่พบว่าตั้งครรภ์ หรือประจำเดือนหายไปนานกว่า 2 เดือน กรณีนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงนะคะ 
 
หยุดกินยาคุมกี่เดือนถึงจะท้อง ?
 
ยาคุมกำเนิดจะช่วยชะลอโอกาสตั้งครรภ์สำหรับคู่ที่ไม่พร้อมมีบุตร ซึ่งตัวยาจะยับยั้งการตกไข่ในเพศหญิงก็เฉพาะตอนที่กินยาเท่านั้น ดังนั้นเมื่อหยุดกินยาคุมกำเนิดแล้วก็มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ทันที หรือไม่เกิน 1 ปี หลังจากหยุดกินยาคุมไป แต่ในกรณีที่ยังไม่ตั้งครรภ์สักที อาจต้องลองไปตรวจร่างกายว่ามีภาวะมีบุตรยากอยู่หรือเปล่า
 
หยุดกินยาคุม 1 เดือน แล้วจะเริ่มกินใหม่ได้เมื่อไร
 
สำหรับสาว ๆ ที่หยุดกินยาคุมไป 1 เดือน หรือหยุดกินยาคุม 1 แผงแล้วอยากจะกลับมากินยาคุมใหม่อีกครั้ง ควรเริ่มรับประทานยาเม็ดแรกในวันที่ 5 ของการมีประจำเดือน โดยให้นับวันแรกที่มีเลือดประจำเดือนออกมาเป็นวันที่ 1 เพื่อให้ครบรอบการตกไข่ของร่างกาย 
 
แต่สำหรับเคสที่หยุดกินยาคุมกำเนิดมานาน แต่อยากกลับมากินยาคุมใหม่อีกครั้ง ให้กินเหมือนเริ่มกินยาคุมครั้งแรก กล่าวคือ เริ่มกินยาคุมเม็ดแรกในวันแรกที่มีประจำเดือน หรือภายใน 5 วันของการมีประจำเดือน ทว่าหากไม่ได้กินยาคุมกำเนิดภายใน 5 วันของการมีประจำเดือน ในช่วง 7 วันแรกของการกินยาคุมกำเนิด ก็ควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ อย่างการใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย
 
หยุดกินยาคุมช่วงเว้น 7 วัน หรือช่วงกินยาหลอก จะต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นอีกไหม ?
 
ในกรณีที่กินยาคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ด แล้วมีช่วงหยุดกินยาคุม 7 วันก่อนเริ่มกินแผงใหม่ หรือช่วงที่กินเม็ดแป้งในยาคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ด ช่วง 7 วันนี้ตัวยาจะยับยั้งการตกไข่ในรอบเดือนนั้นไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการตั้งครรภ์ แม้ไม่ได้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย ทว่าก็ต้องมั่นใจว่าก่อนหน้านั้นเรากินยาคุมกำเนิดอย่างสม่ำเสมอ ไม่กิน ๆ ลืม ๆ 
อย่างไรก็ดี อยากย้ำเพิ่มอีกนิดนะคะว่า ยาเม็ดคุมกำเนิดช่วยยับยั้งการตั้งครรภ์ได้เท่านั้น แต่ไม่ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แต่อย่างใด และไม่มีวิธีคุมกำเนิดแบบไหนให้ผลป้องกันได้ 100% เต็ม โดยเฉพาะหากกินยาไม่สม่ำเสมอ ลืมกินบ้าง กินไม่ตรงเวลาบ้าง เป็นต้น
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ใกล้มิตรชิดหมอ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล pharmacafe โรงพยาบาลวิภาวดี
 
Page View : 15,134
เนื้อหาอื่นๆ
ทั้งหมด >>
ร่างกายของเราประกอบด้วยน้ำ 70% มันช่างเป็นข้อพิสูจน์ถึงความสำคัญของน้ำต่อการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ เราแทบจะนึกภาพชีวิตของเราไม่ได้หากปราศจากน้ำ แต่ว่าน้ำร้อนหรือน้ำเย็นดีกว่ากัน? โดยเฉพาะหากใครอยากควบคุมน้ำหนัก ดื่มน้ำร้อนหรือน้ำเย็นช่วยได้มากกว่ากัน จริง ๆ แล้ว เป้าหมายหลักคือการรักษาระดับน้ำในร่างกายให้สมดุล และแนะนำให้ดื่มน้ำ 7-8 แก้วต่อวัน การจิบน้ำตลอดทั้งวันไม่เพียงแต่ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายเท่านั้น แต่ยังช่วยปรับปรุงการเผาผลาญอีกด้วย
03, 2024 @ 10:39
อาหารที่มีธาตุเหล็กสูงที่เราจะแนะนำกันในวันนี้คัดมาพิเศษสำหรับสาว ๆ ที่อยากเติมธาตุเหล็กให้ร่างกายในช่วงมีประจำเดือน เพราะผู้หญิงทุกคนจะรู้ดีว่าในวันนั้น ๆ ร่างกายจะอ่อนเพลีย หรือบางคนอาจมีอาการปวดท้องน้อย และวิงเวียนเบา ๆ ด้วย แม้ประจำเดือนจะเป็นเลือดที่มาจากการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกที่ไม่ได้ใช้งาน ทว่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและธาตุเหล็กที่ร่างกายสูญเสียไปในช่วงนี้ก็ส่งผลต่อสุขภาพในหลาย ๆ ระบบได้ ดังนั้น เพื่อให้สาว ๆ ยังคงแฮปปี้และเฮลธ์ตี้ มาดูกันว่าอาหารธาตุเหล็กสูงชนิดไหนบ้างที่ควรรับประทาน
01, 2024 @ 16:51
เครื่องฟอกอากาศห้อยคอ หรือเครื่องฟอกอากาศแบบพกพา กำลังเป็นไอเทมที่หลายคนต้องพกติดตัวเวลาออกจากบ้าน ด้วยความเชื่อว่าจะช่วยฟอกอากาศบริสุทธิ์ และกำจัดฝุ่น PM2.5 ที่เป็นพิษต่อสุขภาพร่างกายได้ แต่ความจริงนั้นเป็นเช่นไร วันนี้มาทำความเข้าใจกัน
12, 2023 @ 14:30
องค์การอนามัยโลก มีคำแนะนำให้เราให้บริโภคผักและผลไม้ไม่ต่ำกว่าวันละ 400 กรัมต่อวัน เพื่อผลในการสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ลดโอกาสเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ
12, 2023 @ 14:24